ภัยร้ายบนอินเตอร์เน็ตทำเด็กซึมเศร้าอยู่ในโลกความฝัน
เปิดเผยผลการศึกษาผลกระทบของอินเทอร์เน็ตต่อสุขภาพกาย และสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนไทยชี้ชัด เด็กและเยาวชนใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อการบันเทิงมากที่สุด ขณะที่ผลกระทบด้านสังคม ไม่ค่อยรู้เรื่องภายนอก หรือคุยกับคนรอบข้าง ซึมเศร้าอยู่แต่ในโลกความฝันของตัวเอง
วันนี้(14 พ.ค.)น.ส.ประพิมพ์พรรณ สุวรรณกูฏ นักพัฒนาสังคม สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ (สท.) กล่าวว่า จากการศึกษา เรื่อง ผลกระทบของอินเทอร์เน็ตต่อสุขภาพกาย และสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนไทย : กรณีศึกษากรุงเทพมหานคร ร่วมกับ สำนักทดสอบทางการศึกษาและจิตวิทยา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยศึกษาพฤติกรรมการรับข้อมูลข่าวสารทางอินเทอร์เน็ตของเด็กและเยาวชนทั้ง ด้านการศึกษา ด้านบันเทิง ด้านลบ และด้านธุระ/ซื้อขาย รวมถึงความสัมพันธ์ของผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต กับกลุ่มตัวอย่างเป็นเด็กและเยาวชนในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 1,584 คน
ผล การวิจัยพบว่ากลุ่มตัวอย่างมีพฤติกรรมการรับสื่ออินเทอร์เน็ตบันเทิงมาก ที่สุด ได้แก่ รับข่าวสาร พูดคุยติดต่อเพื่อน ดูหนังฟังเพลง เสนอความคิดเห็นในกระทู้ต่าง ๆ รองลงมาด้านการศึกษา ได้แก่ เพื่อส่งงานให้อาจารย์ทางอีเมล์ หาข้อมูลในการเรียนหรือเตรียมตัวสอบ ค้นคว้าผ่านห้องสมุดดิจิตอล และแลกเปลี่ยนข่าวสารการเรียนกับเพื่อน ด้านธุระ/ซื้อขาย ได้แก่ ติดต่อธุระ ซื้อขายสินค้า หาข้อมูลสินค้า ทำธุระทางการเงิน จ่ายค่าสินค้าและบริการต่าง ๆ หาข้อมูลเพื่อการทำงานที่มิใช่การเรียน สร้างรายได้ และด้านลบ ได้แก่ ดูเรื่องต่างๆ ที่ตอบสนองอารมณ์ทางเพศ ดูคลิปวิดีโอหรือภาพโป๊เปลือย ค้นข้อมูลที่ไม่เหมาะสมหรือเป็นของต้องห้าม นินทาหรือด่าว่ากัน สื่อสารกับเพื่อนในเรื่องที่ไม่อยากให้ผู้ใหญ่รู้ ใช้เพื่อการพนัน เล่นเกมออนไลน์เพื่อการเอาชนะและความสะใจผลจากการใช้อินเทอร์เน็ตมีผลต่อ สุขภาพจิตทางบวกของเด็กและเยาวชนมากที่สุด ได้แก่ ทำให้มีเพื่อนใหม่เพิ่มขึ้น เข้าใจและพอใจกับชีวิตของตนเอง มีความสุขกับสิ่งที่ทำแต่ละวัน สามารถจัดการปัญหาต่าง ๆ ให้สำเร็จ มีความมุ่งมั่นในการทำภารกิจต่าง ๆ รู้สึกสนุก เพลิดเพลินใจ รองลงมาคือสุขภาพกาย ในทางลบ ได้แก่ ทำให้อ่อนล้าสายตา สายตาสั้นลง ตายลาย เมื่อยแขน ปวดศีรษะ มึนศีรษะ ปวดก้นกบ หลัง ไหล่ กล้ามเนื้อมือและนิ้ว ร่างกายเมื่อยล้า อ่อนเพลีย ลืมเวลาทานอาหารจนปวดท้อง เพลินจนไม่ได้เข้าห้องน้ำ ทำให้มีผลต่อระบบขับถ่าย และสุขภาพจิตในทางลบ ได้แก่ ทำให้รู้สึกเศร้าโดยไม่ทราบสาเหตุ ไม่สามารถควบคุมสภาพจิตใจตนเองได้ หงุดหงิดกังวลใจกับเรื่องเล็กน้อย ทำงานต่าง ๆ ที่ได้รับมอบหมายเสร็จไม่ทัน ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างลดลง เบื่อหน่ายท้อแท้กับการดำเนินชีวิต
น.ส.ประพิมพ์พรรณ กล่าวว่า การใช้อินเตอร์เน็ตของเด็กและเยาวชนยังเกิดผลกระทบด้านสังคม คือ ถูกหลอก เกิดอาชญากรรมเจอคนที่พูดไม่ดีรู้สึกแย่ ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น อยากไปเจอเพื่อน ๆ น้อยลง รู้จักแต่คนที่เล่นเกมที่รุนแรง อยู่ในโลกความฝัน ทำให้ไม่ค่อยรู้เรื่องภายนอก ไม่ค่อยได้คุยกับพ่อแม่ ไม่คุยกับคนรอบข้าง บางทีทำให้ทะเลาะกันเพราะมีความคิดเห็นต่างกัน อย่างไรก็ตามเด็กและเยาวชนยังแสดงความเห็นในการจัดการเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม เช่น ควรมีกฎหมายสั่งปิด ปราบปราม เพื่อการสร้างสื่อที่ดีต่อสังคม ออกมาตรการควบคุมอายุผู้เข้าชม รณรงค์ให้ผู้คนรู้จักละอายใจที่จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับเว็บไซต์เหล่านั้น หรือมีขั้นตอนการลงโทษ คอยตรวจสอบ เว็บไซต์ต่าง ๆ อยู่เป็นประจำ อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลมากขึ้น เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพและการละเมิดโดยการนำภาพคนอื่นมาตัดต่อให้เกิดความ เสียหาย ผู้ปกครองควรดูแลบุตรหลานด้วยไม่ใช่ปล่อยให้เล่นเพลิน สำหรับข้อเสนอแนะเชิงนโยบายจากงานวิจัยครั้งนี้ คือ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตระหนักถึงปัญหาที่เกิดจากการใช้อินเตอร์เน็ตของ เด็กและเยาวชนไทย ซึ่งพบว่าเนื้อหาที่มีอยู่มากกว่า 1,000 ล้านเว็บไซต์ทั่วโลกมีทั้งส่วนที่เป็นประโยชน์และที่ก่อให้เกิดโทษ จึงควรมีมาตรการที่เข้มงวด มีประสิทธิภาพในการจัดการและป้องกันปัญหาที่เกิดจากอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะด้านเนื้อหา หรือรูปภาพต่าง ๆ โดยการออกข้อบังคับเพื่อปราบปรามสิ่งยั่วยุที่อาจจะมีอยู่มากเกินไปในสังคม ไทย
ขอบคุณเนื้อหาข่าวจาก ไทยรัฐ
No comments:
Post a Comment